คำขวัญอำเภอบางละมุง
“ชายหาดงามตา เมืองพัทยาขึ้นชื่อ เลื่องลือเกาะล้าน ตำนานทัพพระยา ล้ำค่าวัดญาณฯ”
ประวัติอำเภอบางละมุง
แต่เดิมนั้นบางละมุงมีฐานะเป็นระดับเมือง (เป็นที่รู้จักกันในนาม เมืองบางละมุง) แต่เมื่อถึงปี พ.ศ.2444 เมืองบางละมุง ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนแปลง ให้เป็นอำเภอที่ขึ้นตรงกับจังหวัดชลบุรี ซึ่งในตอนแรกนั้น ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่พื้นที่ริมคลองนกยาง (ในช่วงเวลานั้น พื้นที่แห่งนี้ยังมีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ) แต่ในปี พ.ศ.2452 ที่ว่าการอำเภอได้ย้ายไปอยู่ที่ตำบลนาเกลือ เนื่องจากนายอำเภอในช่วงนั้น (นายเจิม) เห็นว่าพื้นที่ ๆ คลองนกยางไม่สะดวกต่อการขยายพื้นที่ และเรือรับส่งสินค้าเข้าออกไม่สะดวกเท่าใดนัก อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ.2495 เกิดเหตุวาตภัยขึ้นที่ที่ว่าการอำเภอ ถึงขนาดที่มีความเสียหายมาก ไม่สามารถใช้การต่อได้ จึงมีการย้ายที่ว่าการอำเภอไปอยู่ที่ ที่ทำการชั่วคราว ณ โรงเรียนบางละมุง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมถนนสุขุมวิท หลังจากนั้น 1 ปี ก็มีการสร้างที่ว่าการอำเภอขึ้นใหม่บนพื้นที่ ๆ ใกล้เคียงกับโรงเรียนบางละมุง และตั้งอยู่ที่นั่นมาจนถึงทุกวันนี้ ในช่วงที่อำเภอบางละมุง เพิ่งได้รับการเปลี่ยนแปลงนั้น มีขอบเขตครอบคลุมไปถึงอำเภอสัตหีบด้วย แต่เมื่อถึงปี พ.ศ.2480 อำเภอสัตหีบก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกิ่งอำเภอ ซึ่งยังคงขึ้นตรงกับอำเภอบางละมุงอยู่ จนกระทั่งหลังจากนั้นประมาณ 16 ปี (พ.ศ.2496) อำเภอสัตหีบก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอำเภอ และแยกตัวออกจากอำเภอบางละมุง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สภาพทั่วไปและอาณาเขต
อำเภอบางละมุงและเมืองพัทยา มีพื้นที่รวมประมาณ 727 ตารางกิโลเมตร (อ.บางละมุง 519 ตร.กม. , เมืองพัทยา 208 ตร.กม.) อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 142 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดชลบุรี 45 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดระยอง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย
ลักษณะภูมิประเทศและสภาพอากาศ
เป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและทำการประมง และมีพื้นที่ราบสลับเนินเขาทางทิศตะวันออก ซึ่งเหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม
ลักษณะภูมิประเทศ โดยทั่วไปได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมที่พัดผ่านตามฤดูกาล 2 ประเภท คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากการได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมดังกล่าวแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน จากอ่าวเบงกอล ซึ่งเป็นลมที่จะทำให้เกิดฝนตกค่อนข้างมาก ในบริเวณที่พายุพัดผ่าน โดยฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน นำความชุ่มชื้นและฝน ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในช่วงนี้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดพาเอามวลอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งเข้ามา ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงในช่วงเดือนธันวาคม และเดือนมกราคม ส่วนใหญ่ในช่วงเปลี่ยนลมมรสุมตั้งแต่ กลางเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงฤดูร้อน ซึ่งมีอากาศร้อนอบอ้าว และอุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉพาะเดือนเมษายน
อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 30.9 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 35.6 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิต่ำสุด 26.2 องศาเซลเซียส
สภาพเศรษฐกิจ
อำเภอบางละมุงและเมืองพัทยา เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว ที่ได้รับความนิยมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างประเทศ โดยเฉพาะเมืองพัทยา เป็นเมืองที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของภาคตะวันออก กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ จึงเป็นกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพด้านการค้า และการบริการนักท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ นอกนั้นประกอบอาชีพการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
1.การอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอบางละมุง ปัจจุบันการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากกว่าร้อยละ 90 โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น
2.การเกษตรกรรม
อาชีพเกษตรกรรมของอำเภอบางละมุง ส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกมันสำปะหลัง สับปะรด และมะพร้าว ประชากรอาชีพทางด้านนี้มีประมาณร้อยละ 3 เท่านั้น เพราะในปัจจุบันที่ดินมีราคาสูง ทำให้การลงทุนทางด้านการเกษตรลดน้อยลง
3.การพาณิชยกรรมและการบริการ
มีการประกอบการด้านพาณิชยกรรมประมาณร้อยละ 7 เช่นการทำธุรกิจการค้าปลีก ธุรกิจนำเข้า ส่งออก ห้างสรรพสินค้า และการบริการแก่นักท่องเที่ยว ประเภทขายหรือเช่าอุปกรณ์ ในการอำนวยความสะดวก และบันเทิงแก่นักท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจเช่ารถจักรยานยนต์ เรือเจ็ตสกี เรือนำเที่ยว ฯลฯ
4.การท่องเที่ยว
อำเภอบางละมุง มีเมืองพัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ที่มีชื่อเสียงทางทะเลแห่งหนึ่งของประเทศ และตั้งอยู่ระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด จังหวัดระยอง จนได้รับการกำหนดให้เป็นเมืองที่อยู่ในเขตพื้นที่การพัฒนาตามโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor)
การคมนาคม
ทางรถยนต์
-
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ( ถนนสุขุมวิท บางนา-ตราด ) เป็นถนนสายหลัก ในการเดินทางเข้าสู่อำเภอบางละมุง และเมืองพัทยา
-
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 เป็นเส้นทางที่แยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 บริเวณแยกกระทิงลาย ไปสู่จังหวัดระยอง
-
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 (กรุงเทพ – พัทยา) เป็นทางหลวงพิเศษที่เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดชลบุรีและเมืองพัทยา ในอนาคตจะขยายระยะทางต่อไปจนถึงท่าเรือ มาบตาพุด จังหวัดระยอง
ทางรถโดยสารประจำทาง
-
ชลบุรี – สัตหีบ
-
กรุงเทพ – พัทยา
ทางรถไฟ
-
เส้นทางรถไฟ สายฉะเชิงเทรา – สัตหีบ ( ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา และสิ้นสุดที่สถานีรถไฟพลูตาหลวง ) เดินรถไป-กลับ วันละ 1 เที่ยว
ทางน้ำ
-
มีเส้นทางการเดินเรือระหว่างเมืองพัทยาไปกลับยัง อ.หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ศาสนา
อำเภอบางละมุง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งหมด รองลงมานับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 16 นับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 2 และศาสนาอื่นๆ ร้อยละ 2 โดยมีจำนวนศาสนสถาน ดังต่อไปนี้
1.วัดในศาสนาพุทธ จำนวน 44 แห่ง
2.มัสยิดหรือสุเหร่าในศาสนาอิสลาม จำนวน 7 แห่ง
3.โบสถ์คริสต์ จำนวน 4 แห่ง
4.วัดในศาสนาซิกส์ จำนวน 1 แห่ง
|